กรมการท่องเที่ยว (DOT) บูรณาการภาครัฐและเอกชน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์

       กรมการท่องเที่ยว ร่วมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวตามรอยไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกขุดค้นพบในพื้นที่ของประเทศไทยผ่านโครงการ Dinosaur Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยวการรับรู้ด้านให้แก่แหล่งท่องเที่ยว พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ และเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ภายในเส้นทางท่องเที่ยวให้น่าสนใจมากขึ้น พัฒนาบรรยากาศด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม โดยกำหนดจัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ ในวันที่4 กันยายน 2566 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. – 12.00 น. ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

       นายอธึก ประเสนมูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว กล่าวว่า “จากความสมบูรณ์ของทรัพยากรโบราณ ซากไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ในประเทศไทย กรมการท่องเที่ยวในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการตลาด โดยมุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าและภาพลักษณ์ของประเทศให้เข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มที่มีความสนใจพิเศษด้านประวัติศาสตร์ กลุ่มเยาวชน กลุ่มสถาบันการศึกษาและกลุ่มครอบครัว รวมไปถึงการเชื่อมโยงกลุ่มนักท่องเที่ยวในอนาคตจากประเทศริมแม่น้ำโขงอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงได้ดำเนินโครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง พัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ให้แก่แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว และจัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์”

         สำหรับโครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้แหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวจดจำง่าย ได้ความรู้และมีความเข้าใจ พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานเพิ่มเติม ในแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบทางลาด แบบห้องน้ำในแหล่งท่องเที่ยว ป้ายสื่อความหมาย ป้ายบอกทางที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะเส้นทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงของร่องรอยไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกขุดค้นพบในพื้นที่ประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภู นครพนม ชัยภูมิ  เลย อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และพื้นที่เชื่อมโยงอื่นๆ โดยดำเนินการศึกษา ออกแบบ และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม ออกแบบผังบริเวณการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจ ร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ที่กระจัดกระจายให้สอดคล้องกัน และออกแบบให้สามารถรองรับการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนในอนาคตต่อไป

 

ข่าวสารและกิจกรรมเพิ่มเติม