โครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี

    โครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี ของกรมการท่องเที่ยว มีวัถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแต่ละแห่ง พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ให้แก่แหล่งท่องเที่ยว และจัดทำแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มด้านการตลาด ด้านการมุ่งเน้นพัฒนาการสื่อสารคุณค่าและภาพลักษณ์ของประเทศ

     โดยโครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปี เป็นโครงการที่สืบเนื่องมาจากศักยภาพทางทรัพยากรธรณีและซากดึกดำบรรพ์ที่ประเทศไทยถือเป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์สกุลใหม่ของโลกหลายสายพันธุ์ โดยนักโบราณชีววิทยาของไทยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมกันศึกษา ค้นคว้า และได้ขุดค้นพบซากดึกดำบรรพ์ครั้งแรก ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2519 ที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น กระดูกไดโนเสาร์ในประเทศไทย ตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยมีการขุดค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ถึง 16 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ ของโลก 6 ชนิด และอีก 5 ชนิด อยู่ในกลุ่มสกุลใหม่ของโลก โดยได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของบุคคลหรือสถานที่ที่ขุดพบ เช่น ไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศ กินรีมีมัส ขอนแก่นเอนซิส ไดโนเสาร์ปากจระเข้ สยามโมซอรัส สุธีธรณี ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส รวมไปถึงซากฟอสซิล ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น ไม้กลายเป็นหิน เป็นต้น โดยปัจจุบัน หน่วยงานที่รับผิดชอบการขุดค้นเป็นผู้ดูแลและดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ต่าง ๆ โดยมีรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลายตามลักษณะพื้นที่ของตน ซึ่งจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรดังกล่าวข้างต้น โครงการ Dinosaurs Siamensis : ตะลุยเส้นทางผ่ามิติทะลุโลกล้านปีนี้ จึงมุ่งเน้นการสร้างอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้แก่แหล่งท่องเที่ยวให้จดจําได้ง่าย ได้ความรู้ เข้าใจง่าย พัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น การประชาสัมพันธ์รวมถึงออกแบบสิ่งอํานวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติมในแหล่งท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มได้ เช่น ทางลาด ห้องน้ำ ป้ายสื่อความหมาย ป้ายบอกทางที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะเส้นทาง สร้างความเชื่อมโยง ร่องรอยไดโนเสาร์และสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกขุดค้นพบในพื้นที่ประเทศไทย เช่น จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น กาฬสินธุ์ เลย เพชรบูรณ์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี นครพนมและพื้นที่เชื่อมโยงอื่น ๆ ดำเนินการศึกษา ออกแบบและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างครอบคลุม ออกแบบผังบริเวณการพัฒนาพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวให้มีความน่าสนใจ ร้อยเรื่องราวต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายให้สอดคล้องกัน และออกแบบให้สามารถรองรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ในอนาคตอีกด้วย

ข่าวสารและกิจกรรมเพิ่มเติม